นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คาดว่าจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการในเร็วๆ นี้ โดยคณะกรรมการจะจัดทำข้อยุติที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อให้รัฐบาลจัดทำแผนปฏิบัติ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปฏิบัติได้จริงและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ในเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง จ.ระยอง ตลอดจนจัดทำข้อยุติ เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับ 76 โครงการ ที่ถูกระงับการดำเนินการ ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน
"รัฐบาลต้องการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหามลพิษพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และลดการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ ให้ภาคอุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว
คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมีชื่อทางการว่า “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตาม มาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ประกอบด้วยตัวแทน 4 ฝ่าย คือ ตัวแทนภาคประชาชน 4 คน ตัวแทนภาครัฐ 4 คน ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และตัวแทนภาคเอกชน 4 คน
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อรับฟังข้อเสนอของประชาชน ภายใน 10 วัน ตนในฐานะประธานคณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ด จะเสนอให้ ครม.อนุมัติงบกลางปีรายจ่ายฉุกเฉินปี 2552 หรืองบกลางปี 2553 จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปเยียวยาประชาชนในพื้นที่ เช่น การเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลในพื้นที่อีก 200 เตียง การจัดรถรับส่งประชาชนไปโรงพยาบาล
ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดความชัดเจนของกิจการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงให้ชัดเจน เพราะถ้ากำหนดที่ชัดเจนจะทำให้แยกประเภทโครงการที่ถูกระงับ 76 โครงการ ได้ว่าโครงการใดต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ (เอชไอเอ)
"ส.อ.ท.ต้องการให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายทุกคนมีเหตุผลและยอมรับความเห็นซึ่งกันและกัน โดยนักวิชาการที่เข้าร่วมประชุมต้องเป็นกลางและมีความเข้าใจเรื่องอุตสาหกรรมในมาบตาพุด ถ้าทุกฝ่ายคุยกันด้วยเหตุผล เชื่อว่าจะหาทางออกได้ ภาคเอกชนเชื่อว่า นายอานันท์ ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จะมีความเป็นกลางและแก้ปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดได้" นายสันติกล่าว
**** องค์ประกอบ ****
ภาคประชาชน กรรมการประกอบด้วย นายชูชัย ศุภวงศ์ นางเรณู เวชรัชต์พิมล นายสุทธิ อัชฌาศัย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ
ภาครัฐ กรรมการประกอบด้วย นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายโกศล ใจรังษี)
ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการประกอบด้วย นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นายธงชัย พรรณสวัสดิ์ นายสุทิน อยู่สุข นางสาวสมฤดี นิโครวัฒนยิ่งยง นายสมรัตน์ ยินดีพิธ
ภาคเอกชนผู้ประกอบการ กรรมการประกอบด้วย นายชายน้อย เผื่อนโกสุม นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล นายมหาบีร์ โกเดอร์ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
*** กรรมการทั้งหมด ไม่มีคนมาบตาพุด ขบวนการรับฟังประชาพิจารณ์ ที่ตระเวณไปจัด ทั่วประเทศ ไม่เคยมาจัดที่มาบตาพุด - สุดท้าย บอกว่า คกก. 4 ฝ่าย จะดูในกรอบทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะโรงงานหรือกิจกรรม ที่่มาบตาพุด ***
คนมาบตาพุด คิดว่า ... อะไรๆ จะดีขึ้น ในส่วนของสภาวะแวดล้อม กับการเสียโอกาส ในการทำมาหากิน แต่สุดท้ายไม่ใช่ ปัญหาที่เคยหยุดไป มีกลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จากการเร่งรัดที่จะเปฺดใช้โรงงานหลายโรง วันนี้ ... ไม่มีใครสนใจใส่ใจ ปัญหา ที่มาบตาพุดอีก ประโคมข่าว กันมาตลอดว่า การระงับโครงการในมาบตาพุด พื้นที่เศรษฐกิจชาติ ทำให้มีปัญหาใหญ่หลวงกับเศรษฐกิจ วันนี้ ... แม้ควันดำลอยต่ำจนเป็นหมอกพร่ามัว ก้อไม่มีใครสนใจ
ล่าสุด ในการประชุม คกก. 4 ฝ่าย - ตามที่ เลขาฯ แจ้งให้ทราบว่า ... มีข้อร้องเรียน เรื่องโรงงานเสี่ยง ของ ปตท. ไม่ตอกเสาเข็ม อาจทรุดพัง ระเบิดลุกลาม - กลับไม่มีตัวแทนภาคประชาชน ออกความเห็นเรื่องนี้ แต่อย่างไร ในเมื่อไม่มีตัวแทนภาคประชาชน ใครคนไหนสนใจ / ปตท. ชี้แจง ว่าทุกอย่างแข็งแรงดี ดินแข็งมากจึงไม่จำเป็นต้องตอกเสาเข็ม (ทั้งๆที่ เป็น บริเวณน้ำท่วมขังถ้าฝนตกหนัก) ทุกอย่างจบตรงนั้น ไม่จำเป็นต้องทบทวนอีก ... บ่วงแห ที่ประชาชนคนมาบตาพุด แกะไม่ออก ทั้งๆที่ 4 คนนี้ ไม่ใช่คนรับผลกระทบใด ถ้าเกิดเหตุร้ายขึ้น
(14 ก.ย.) ที่บ้านพิษณุโลก นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาการปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง รัฐธรรมนูญ 2550 ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ โดยมีการเชิญตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เข้าชี้แจงกรณีประกาศ 11 ประเภทกิจการรุนแรงของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ว่า สิ่งที่ตนอยากย้ำคือเราทำหน้าที่ของเราภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง และทำเสร็จแล้ว โดยเสนอประเภทกิจการรุนแรง 18 ประเภทที่เข้าข่ายโครงการรุนแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง รัฐบาลมีสิทธิ์ และมีอำนาจที่จะพิจารณา โดยผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ และเขาก็ตัดลงมาเหลือ 11 ประเภทกิจการรุนแรง และใน 11 ประเภท ก็มีการแก้ไขบางประการ ซึ่งในแง่หนึ่งรัฐบาลระบุว่า มีความเข้มข้นขึ้น แต่ภาคประชาชนบอกว่าเข้มข้นน้อยลง ซึ่งเราเคารพสิทธิ และอำนาจของรัฐบาลที่จะตัดสิน
นายอานันท์ กล่าวอีกว่า ตนเรียกประชุมในวันนี้ เพื่อรับฟังว่าทางรัฐบาลมีข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือใช้ตรรกะอย่างไรที่พิจารณาแล้วตัดออกไป 7 โครงการ โดยรัฐบาลได้ส่ง นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และตัวแทนจากหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรฯ มาชี้แจงให้ทราบถึงผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ที่พิจารณาให้เหลือ 11 ประเภทโครงการ แต่เนื่องจากในครั้งนี้เรามีเวลาไม่เพียงพอที่จะลงในรายละเอียดในแต่ละเรื่อง ตนจึงขอเอกสารมติรายงานการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งให้มาแล้ว 2 ชุด แต่ตนดูแล้วก็ยังไม่มีรายละเอียดอะไรมาก ทั้งนี้ ตนได้ขอเทปบันทึกการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ในวันที่มีมติใน 11 ประเภทโครงการรุนแรงด้วย เพื่อให้รู้บรรยากาศระหว่างการประชุม ซึ่งเทปดังกล่าวไม่สามารถเปิดเผยให้คนอื่นฟังได้นอกจากตนคนเดียว เพราะจะเกิดปัญหาทางกฎหมาย
นายอานันท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คณะทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ แต่ละชุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านโครงการรุนแรง การลดมลพิษ การวางผังเมือง และตัวแทนภาคประชาชน จะมีการพูดคุยกันนอกรอบ และร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาในลักษณะของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการในเรื่องมาบตาพุด โดยนายกอร์ปศักดิ์ จะลงมากำกับเรื่องนี้โดยตรง และมีการรายงานผลในทุก 2 เดือน ส่วนในเรื่องของ 11 ประเภท หรือ 18 ประเภทโครงการรุนแรงนั้น จะไม่มีการเจรจา ไม่มีการต่อรอง และไม่มีอะไรจะต้องพูดกันต่อไป ถือว่าเราทำตามหน้าที่แล้ว โดยเราเสนอไป 18 โครงการ และยังยึดถือ 18 โครงการอยู่ ตามความคิดของรัฐบาลเขาออกมา 11 โครงการ ก็เป็นเรื่องของเขา แต่จากพื้นฐานของการมี 11 ประเภทจะดำเนินการอะไรก็เป็นเรื่องที่จะพูดคุยกันต่อไป โดยมีหลักยึดถือว่าทั้ง 2 ฝ่าย จะพูดคุยกันในทางสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และชาวบ้านโดยตรง ถือเป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และรัฐบาล.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น